วันจันทร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2556

Collaborative Learning

การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ  (Cooperative  Learning)
             หมายถึง การจัดการเรียนการสอนที่ผู้สอนจัดให้ผู้เรียนแบ่งเป็นกลุ่มเล็กๆ ประมาณ 4-6 คน เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้โดยการทำงานร่วมกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และร่วมกันรับผิดชอบงานในกลุ่มที่ได้รับมอบหมาย เพื่อให้เกิดเป็นความสำเร็จของกลุ่ม

องค์ประกอบสำคัญของการเรียนรู้แบบร่วมมือ 
1. มีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน  โดยสมาชิกแต่ละคนมีเป้าหมายในการทำงานกลุ่ม
ร่วมกัน ซึ่งจะต้องพึงพาอาศัยซึ่งกันและกันเพื่อความสำเร็จของการทำงานกลุ่ม
2. มีปฏิสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดในเชิงสร้างสรรค์ เป็นการให้สมาชิกได้ร่วมกันทำงาน
กลุ่มกันอย่างใกล้ชิด โดยการเสนอและแสดงความคิดเห็นกันของสมาชิกภายในกลุ่ม ด้วยความรู้สึกที่ดีต่อกัน
3. มีความรับผิดชอบของสมาชิกแต่ละคน  หมายความว่า สมาชิกภายในกลุ่มแต่ละคน
จะต้องมีความรับผิดในการทำงาน โดยที่สมาชิกทุกคนในกลุ่มมีความมั่นใจ  และพร้อมที่จะได้รับการทดสอบเป็นรายบุคคล
4. มีการใช้ทักษะกระบวนการกลุ่มย่อย ทักษะระหว่างบุคคล  และทักษะการทำงานกลุ่ม
ย่อย  นักเรียนควรได้รับการฝึกฝนทักษะเหล่านี้เสียก่อน  เพราะเป็นทักษะสำคัญที่จะช่วยให้การทำงานกลุ่มประสบผลสำเร็จ  เพื่อให้นักเรียนจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5. มีการใช้กระบวนการกลุ่ม ซึ่งเป็นกระบวนการทำงานที่มีขั้นตอนหรือ วิธีการที่จะช่วยให้การดำเนินงานกลุ่มเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  ในการวางแผนปฏิบัติงานและเป้าหมายในการทำงานร่วมกัน  โดยจะต้องดำเนินงานตามแผนตลอดจนประเมินผลและปรับปรุงงาน

ขั้นตอนการจัดกิจกรรม  
1. ขั้นเตรียมการ
1.1 ผู้สอนชี้แจงจุดประสงค์ของบทเรียน
1.2 ผู้สอนจัดกลุ่มผู้เรียนเป็นกลุ่มย่อย  กลุ่มละประมาณไม่เกิน  6  คน  มีสมาชิกที่
มีความสามารถแตกต่างกัน  ผู้สอนแนะนำวิธีการทำงานกลุ่มและบทบาทของสมาชิกในกลุ่ม
2. ขั้นสอน
2.1 ผู้สอนนำเข้าสู่บทเรียน  บอกปัญหาหรืองานที่ต้องการให้กลุ่มแก้ไขหรือคิด
วิเคราะห์  หาคำตอบ
2.2 ผู้สอนแนะนำแหล่งข้อมูล  ค้นคว้า หรือให้ข้อมูลพื้นฐานสำหรับการคิดวิเคราะห์
2.3 ผู้สอนมอบหมายงานที่กลุ่มต้องทำให้ชัดเจน
3. ขั้นทำกิจกรรมกลุ่ม
3.1 ผู้เรียนร่วมมือกันทำงานตามบทบาทหน้าที่ที่ได้รับ  ทุกคนร่วมรับผิดชอบ ร่วมคิด
ร่วมแสดงความคิดเห็น การจัดกิจกรรในขั้นนี้  ครูควรใช้เทคนิคการเรียนรู้แบบร่วมแรงร่วมใจ  ที่น่าสนใจและเหมาะสมกับผู้เรียน  เช่น  การเล่าเรื่องรอบวง  มุมสนทนา  คู่ตรวจสอบ  คู่คิด  ฯลฯ
3.2 ผู้สอนสังเกตการณ์ทำงานของกลุ่ม  คอยเป็นผู้อำนวยความสะดวก  ให้ความ
กระจ่างในกรณีที่ผู้เรียนสงสัยต้องการความช่วยเหลือ
4. ขั้นตรวจสอบผลงานและทดสอบ  ขั้นนี้ผู้เรียนจะรายงานผลการทำงานกลุ่ม
ผู้สอนและเพื่อนกลุ่มอื่นอาจซักถามเพื่อให้เกิดความกระจ่างชัดเจน  เพื่อเป็นการตรวจสอบผลงาน
ของกลุ่มและรายบุคคล
5. ขั้นสรุปบทเรียนและประเมินผลการทำงานกลุ่ม  ขั้นนี้ผู้สอนและผู้เรียนช่วยกัน
สรุปบทเรียน  ผู้สอนควรช่วยเสริมเพิ่มเติมความรู้  ช่วยคิดให้ครบตามเป้าหมายการเรียนที่กำหนดไว้  และช่วยกันประเมินผลการทำงานกลุ่มทั้งส่วนที่เด่นและส่วนที่ควรปรับปรุงแก้ไข

เทคนิคการเรียนรู้แบบร่วมมือ
1. ปริศนาความคิด  (Jigsaw)
ปริศนาความคิด  เป็นเทคนิคที่สมาชิกในกลุ่มแยกย้ายกันไปศึกษาหาความรู้  ในหัวข้อเนื้อหาที่แตกต่างกัน  แล้วกลับเข้ากลุ่มมาถ่ายทอดความรู้ที่ได้มาให้สมาชิกกลุ่มฟัง  วิธีนี้คล้ายกับการต่อภาพจิกซอร์  จึงเรียกวิธีนี้ว่า  Jigsaw หรือปริศนาการคิด
ลักษณะการจัดกิจกรรม
ผู้เรียนที่มีความสามารถต่างกันเข้ากลุ่มร่วมกันเรียกว่า  กลุ่มบ้าน  (Home  Group)  สมาชิกในกลุ่มบ้านจะรับผิดชอบศึกษาหัวข้อที่แตกต่างกัน  แล้วแยกย้ายไปเข้ากลุ่มใหม่ในหัวข้อเดียวกัน  กลุ่มใหม่นี้เรียกว่า  กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ  (Expert  Group)  เมื่อกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทำงานร่วมกันเสร็จ  ก็จะย้ายกลับไปกลุ่มเดิมคือ  กลุ่มบ้านของตน  นำความรู้ที่ได้จากการอภิปรายจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญมาสรุปให้กลุ่มบ้านฟัง  ผู้สอนทดสอบและให้คะแนน
2. กลุ่มร่วมมือแข่งขัน  (Teams – Games – Toumaments : TGT)
เทคนิคกลุ่มร่วมมือแข่งขัน  เป็นกิจกรรมที่สมาชิกในกลุ่มเรียนรู้เนื้อหาสาระจากผู้สอนด้วยกัน  แล้วแต่ละคนแยกย้ายไปแข่งขันทดสอบความรู้  คะแนนที่ได้ของแต่ละคนจะนำมารวมกันเป็นคะแนนของกลุ่ม  กลุ่มที่ได้คะแนนรวมสูงสุดได้รับรางวัล
ลักษณะการจัดกิจกรรม
สมาชิกกลุ่มจะช่วยกันเตรียมตัวเข้าแข่งขัน  โดยผลัดกันถามตอบให้เกิดความแม่นยำในความรู้ที่ผู้สอนจะทดสอบ  เมื่อได้เวลาแข่งขัน  แต่ละทีมจะเข้าประจำโต๊ะแข่งขัน  แล้วเริ่มเล่นเกมพร้อมกันด้วยชุดคำถามที่เหมือนกัน  เมื่อการแข่งขันจบลง  ผู้เข้าร่วมแข่งขันจะกลับไปเข้าทีมเดิมของตนพร้อมคะแนนที่ได้รับ  ทีมที่ได้คะแนนรวมสูงสุดถือว่าเป็นทีมชนะเลิศ
3. กลุ่มร่วมมือช่วยเหลือ  (Team  Assisted  Individualization : TAT)
เทคนิคการเรียนรู้วิธีนี้  เป็นการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้สมาชิกแต่ละคนได้แสดงความสามารถเฉพาะตนก่อน  แล้วจึงจับคู่ตรวจสอบกันและกัน  ช่วยเหลือกันทำใบงานจนสามารถผ่านได้  ต่อจากนั้นจึงนำคะแนนของแต่ละคนมารวมเป็นคะแนนของกลุ่ม  กลุ่มที่ได้คะแนนสูงสุดจะเป็นฝ่ายได้รับรางวัล
ลักษณะการจัดกิจกรรม
กลุ่มจะมีสมาชิก 2 – 4 คน จับคู่กันทำงานตามใบงานที่ได้รับมอบหมาย แล้วแลกเปลี่ยนกันตรวจผลงาน ถ้าผลงานยังไม่ถูกต้องสมบูรณ์ ต้องแก้ไขจนกว่าจะผ่าน ต่อจากนั้นทุกคนจะทำข้อทดสอบ คะแนนของทุกคนจะมารวมกันเป็นคะแนนของกลุ่ม กลุ่มที่ได้คะแนนสูงสุดจะได้รับรางวัล
4. กลุ่มสืบค้น  (Group  Investigation : GI)
กลุ่มสืบค้น  เป็นเทคนิคการจัดกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะการศึกษาค้นคว้าแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง  ผู้เรียนแต่ละกลุ่มได้รับมอบหมายให้ค้นคว้าหาความรู้มานำเสนอ  ประกอบเนื้อหาที่เรียน  อาจเป็นการทำงานตามใบงานที่กำหนด  โดยที่ทุกคนในกลุ่มรับรู้และช่วยกันทำงาน
ลักษณะการจัดกิจกรรม
สมาชิกกลุ่มจะช่วยกันศึกษาค้นคว้าหาคำตอบ  หรือความรู้มานำเสนอต่อชั้นเรียน  โดยผู้สอนแบ่งเนื้อหาเป็นหัวข้อย่อย  แต่ละกลุ่มศึกษากลุ่มละ 1 หัวข้อ  เมื่อพร้อม  ผู้เรียนจะนำเสนอ
ผลงานทีละกลุ่ม  แล้วร่วมกันประเมินผลงาน
5. กลุ่มเรียนรู้ร่วมกัน  (Learning  Together : LT)
กลุ่มเรียนรู้ร่วมกัน  เป็นเทคนิคการจัดกิจกรรมที่ให้สมาชิกในกลุ่มได้รับผิดชอบ  มีบทบาทหน้าที่ทุกคน  เช่น  เป็นผู้อ่าน  เป็นผู้จดบันทึก  เป็นผู้รายงานนำเสนอ  เป็นต้น  ทุกคนช่วยกันทำงาน  จนได้ผลงานสำเร็จ  ส่งและนำเสนอผู้สอน
ลักษณะการจัดกิจกรรม
กลุ่มผู้เรียนจะแบ่งหน้าที่กันทำงาน  เช่น  เป็นผู้อ่านคำสั่งใบงาน  เป็นผู้จดบันทึกงาน  เป็นผู้หาคำตอบ  เป็นผู้ตรวจคำตอบ  เป็นต้น  กลุ่มจะได้ผลงานที่เกิดจากการทำงานของทุกคน
6. กลุ่มร่วมกันคิด  (Numbered  Heads  Together : NHT)
กิจกรรมนี้เหมาะสำหรับการทบทวนหรือตรวจสอบความเข้าใจ  สมาชิกกลุ่มจะประกอบด้วยผู้เรียนที่มีความสามารถเก่ง  ปานกลาง  และอ่อนคละกัน  จะช่วยกันค้นคว้าเตรียมตัวตอบคำถามที่ผู้สอนจะทดสอบ  ผู้สอนจะเรียกถามทีละคน  กลุ่มที่สมาชิกสามารถตอบคำถามได้มากแสดงว่าได้ช่วยเหลือกันดี
ลักษณะการจัดกิจกรรม
สมาชิกกลุ่มที่มีความสามารถแตกต่างกัน  จะร่วมกันอภิปรายปัญหาที่ได้รับเพื่อให้เกิดความพร้อมและความมั่นใจที่จะตอบคำถามผู้สอน  ผู้สอนจะเรียกสมาชิกกลุ่มให้ตอบทีละคน  แล้วนำคะแนนของแต่ละคนมารวมเป็นคะแนนของกลุ่ม
7. กลุ่มร่วมมือ  (Co – op  Co - op)
กลุ่มร่วมมือเป็นเทคนิคการทำงานกลุ่มวิธีหนึ่ง  โดยสมาชิกในกลุ่มที่มีความสามารถและความถนัดแตกต่างกันได้  แสดงบทบาทตามหน้าที่ที่ตนถนัดอย่างเต็มที่  ทำให้งานประสบผลสำเร็จ  วิธีนี้ทำให้ผู้เรียนได้ฝึกความรับผิดชอบการทำงานกลุ่มร่วมกัน  และสนองต่อหลักการของการเรียนรู้  และร่วมมือที่ว่า  “ความสำเร็จแต่ละคน คือ ความสำเร็จของกลุ่ม ความสำเร็จของกลุ่ม คือ ความสำเร็จของทุกคน”
ลักษณะการจัดกิจกรรม
สมาชิกกลุ่มที่มีความสามารถแตกต่างกันจะแบ่งหน้าที่รับผิดชอบไปศึกษาหัวข้อย่อยทีได้รับมอบหมาย  แล้วนำงานจากการศึกษาค้นคว้ามารวมกันเป็นงานกลุ่มปรับปรุงให้ต่อเนื่องเชื่อมโยง  มีความสละสลวย  เสร็จแล้วจึงนำเสนอต่อชั้นเรียน  ทุกกลุ่มจะช่วยกันประเมินผลงาน
จากที่กล่าวมาทั้งหมดสรุปได้ว่า  การเรียนรู้แบบร่วมมือ  เป็นวิธีการที่ผู้เรียนได้ฝึกทักษะการมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นอย่างแท้จริง  ได้ฝึกความรับผิดชอบ  ฝึกเป็นผู้นำ  ผู้ตามกลุ่มฝึกการทำงานให้ประสบผลสำเร็จ  และฝึกทักษะทางสังคม  ผู้สอนควรเลือกใช้เทคนิควิธีต่าง ๆ  ดังกล่ามาให้เหมาะสมกับเนื้อหาสาระ  และจุดประสงค์การเรียนรู้ที่กำหนดไว้

วิธีการเรียนแบบร่วมมือ 
.  การเรียนแบบร่วมมืออย่างเป็นทางการ มีดังนี้
1.1 เทคนิคการแข่งขันระหว่างกลุ่มด้วยเกม (Team – Games – Tournament
หรือ  TGT)  คือ  การจัดกลุ่มนักเรียนเป็นกลุ่มเล็ก ๆ  กลุ่มละ 4  คน  ระดับความสามารถต่างกัน  (Heterogeneous  teams)  คือ  นักเรียนเก่ง  1  คน  ปานกลาง  2  คน  และอ่อน  1  คน  ครูกำหนดบทเรียนและการทำงานของกลุ่มเอาไว้  ครูทำการสอนบทเรียนให้นักเรียนทั้งชั้นแล้วให้กลุ่มทำงานตามที่กำหนด  นักเรียนในกลุ่มช่วยเหลือกัน  เด็กเก่งช่วยและตรวจงานของเพื่อนให้ถูกต้องก่อนนำส่งครู  แล้วจัดกลุ่มใหม่เป็นกลุ่มแข่งขันที่มีความสามารถเท่า ๆ กัน  (Homogeneous  tournament  teams)  มาแข่งขันตอบปัญหาซึ่งจะมีการจัดกลุ่มใหม่ทุกสัปดาห์  โดยพิจารณาจากความสามารถของแต่ละบุคคล  คะแนนของกลุ่มจะได้จากคะแนนของสมาชิกที่เข้าแข่งขันร่วมกับกลุ่มอื่น ๆ ร่วมกัน  แล้วมีการมอบรางวัลให้แก่กลุ่มที่ได้คะแนนสูงถึงเกณฑ์ที่กำหนดไว้
1.2 เทคนิคการแบ่งกลุ่มแบบกลุ่มสัมฤทธิ์  (Student  Teams  Achievement
Divisions  หรือ  STAD)  คือ  การจัดกลุ่มเหมือน  TGT  แต่ไม่มีการแข่งขัน  โดยให้นักเรียนทุกคนต่างคนต่างทำข้อสอบ  แล้วนำคะแนนพัฒนาการ  (คะแนนที่ดีกว่าเดิมในการสอบครั้งก่อน) ของแต่ละคนมารวมกันเป็นคะแนนกลุ่ม  และมีการให้รางวัล
1.3 เทคนิคการจัดกลุ่มแบบช่วยรายบุคคล  (Team  Assisted
Individualization  หรือ  TA)  เทคนิคนี้เหมาะกับวิชาคณิตศาสตร์  ใช้สำหรับระดับประถมปีที่ 3 – 6 วิธีนี้สมาชิกกลุ่มมี  4  คน  มีระดับความรู้ต่างกัน  ครูเรียกเด็กที่มีความรู้ระดับเดียวกันของแต่ละกลุ่มมาสอนตามความยากง่ายของเนื้อหา  วิธีที่สอนจะแตกต่างกัน  เด็กกลับไปยังกลุ่มของตน  และต่างคนต่างทำงานที่ได้รับมอบหมายแต่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  มีการให้รางวัลกลุ่มที่ทำคะแนนได้ดีกว่าเดิม
1.4 เทคนิคโปรแกรมการร่วมมือในการอ่านและเขียน  (Cooperative
Integrated  Reading  and  Composition  หรือ  CIRC)  เทคนิคนี้ใช้สำหรับวิชา  อ่าน  เขียน  และทักษะอื่น ๆ ทางภาษา  สมาชิกในกลุ่มมี  4  คน  มีพื้นความรู้เท่ากัน  2  คน  อีก  2  คน  ก็เท่ากัน  แต่ต่างระดับความรู้กับ  2  คนแรก  ครูจะเรียกคู่ที่มีความรู้ระดับเท่ากันจากกลุ่มทุกกลุ่มมาสอน  ให้กับเข้ากลุ่ม  แล้วเรียกคู่ต่อไปจากทุกกลุ่มมาสอน  คะแนนของกลุ่มพิจารณาจากคะแนนสอบของสมาชิกกลุ่มเป็นรายบุคคล
1.5 เทคนิคการต่อภาพ (Jigsaw)  เทคนิคนี้ใช้สำหรับนักเรียนชั้นประถมปีที่ 3 - 6
สมาชิกในกลุ่มมี  6  คน  ความรู้ต่างระดับกัน  สมาชิกแต่ละคนไปเรียนร่วมกันกับสมาชิกของกลุ่มอื่น ๆ ในหัวข้อที่ต่างกันออกไป  แล้วทุกคนกลับมากลุ่มของตน  สอนเพื่อนในสิ่งที่ตนไปเรียนร่วมกับสมาชิกของกลุ่มอื่นๆ  มา  การประเมินผลเป็นรายบุคคลแล้วรวมเป็นคะแนนของกลุ่ม
1.6 เทคนิคการต่อภาพ  2  (Jigsaw  II)  เทคนิคนี้สมาชิกในกลุ่ม 4 – 5 คน
นักเรียนทุกคนสนใจเรียนบทเรียนเดียวกัน  สมาชิกแต่ละคนในกลุ่มให้ความสนใจในหัวข้อย่อยของบทเรียนต่างกัน  ใครที่สนใจหัวข้อเดียวกันจะไปประชุมกัน  ค้นคว้าและอภิปราย  แล้วกลับมาที่กลุ่มเดิมของตนสอนเพื่อนในเรื่องที่ตนเองไปประชุมกับสมาชิกของกลุ่มอื่นมา  ผลการสอบของแต่ละคนเป็นคะแนนของกลุ่ม  กลุ่มที่ทำคะแนนรวมได้ดีกว่าครั้งก่อน  (คิดคะแนนเหมือน STAD)  จะได้รับรางวัล  ขั้นตอนการเรียนมีดังนี้
1) ครูแบ่งหัวข้อที่จะเรียนเป็นหัวข้อย่อย ๆ ให้เท่ากับจำนวนสมาชิกของแต่ละ
กลุ่ม
2) จัดกลุ่มนักเรียนโดยให้มีความสามารถคละกันภายในกลุ่มเป็นกลุ่มบ้าน
(Home  group)  สมาชิกแต่ละคนในกลุ่มอ่านเฉพาะหัวข้อย่อยที่ตนได้รับมอบหมายเท่านั้น โดยใช้เวลาตามที่ครูกำหนด
3) จากนั้นนักเรียนที่อ่านหัวข้อย่อยเดียวกันมานั่งด้วยกัน เพื่อทำงาน  ซักถาม
และทำกิจกรรม  ซึ่งเรียกว่ากลุ่มผู้เชี่ยวชาญ  (Expert  group)  สมาชิกทุก ๆ คน  ร่วมมือกันอภิปรายหรือทำงานอย่างเท่าเทียมกัน  โดยใช้เวลาตามที่ครูกำหนด
4) นักเรียนแต่ละคนในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ กลับมายังกลุ่มบ้าน  (Home group)
ของตน  จากนั้นผลัดเปลี่ยนกันอธิบายให้เพื่อนสมาชิกในกลุ่มฟัง  เริ่มจากหัวข้อย่อยที่  1, 2, 3
และ 4  เป็นต้น
5) ทำการทดสอบหัวข้อย่อย 1 – 4 กับนักเรียนทั้งห้อง  คะแนนของสมาชิก
แต่ละคนในกลุ่มรวมเป็นคะแนนกลุ่ม  กลุ่มที่ได้คะแนนสูงสุดจะได้รับการติดประกาศ
1.7 เทคนิคการตรวจสอบเป็นกลุ่ม  (Group  Investigation)  เทคนิคนี้สมาชิก
ในกลุ่มมี 2 – 6 คน  เป็นรูปแบบที่ซับซ้อน  แต่ละกลุ่มเลือกหัวข้อเรื่องที่ต้องการจะศึกษาค้นคว้า  สมาชิกในกลุ่มแบ่งงานกันทั้งกลุ่มมีการวางแผนการดำเนินงานตามแผน  การวิเคราะห์  การสังเคราะห์งานที่ทำ  การนำเสนอผลงานหรือรายงานต่อหน้าชั้น  การให้รางวัลหรือให้คะแนนเป็นกลุ่ม
1.8 เทคนิคการเรียนร่วมกัน  (Learning  Together)  วิธีนี้สมาชิกในกลุ่มมี 4 – 5
คน  ระดับความรู้ความสามารถต่างกัน  ใช้สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 – 6 โดยครูทำการสอนทั้งชั้น เด็กแต่ละกลุ่มทำงานตามที่ครูมอบหมาย  คะแนนของกลุ่มพิจารณาจากผลงานของกลุ่ม
1.9 เทคนิคการเรียนแบบร่วมมือร่วมกลุ่ม  (Co – op – Co - op)  ซึ่งเทคนิคนี้
ประกอบด้วยขั้นตอนต่าง ๆ  ดังนี้คือ  นักเรียนช่วยกันอภิปรายหัวข้อที่จะศึกษา  แบ่งหัวข้อใหญ่เป็นหัวข้อย่อย  แล้วจัดนักเรียนเข้ากลุ่มตามความสามารถที่แตกต่างกัน  กลุ่มเลือกหัวข้อที่จะศึกษาตามความสนใจของกลุ่ม  กลุ่มแบ่งหัวข้อย่อยออกเป็นหัวข้อเล็ก ๆ เพื่อนักเรียนแต่ละคนในกลุ่มเลือกไปศึกษา  และมีการกำหนดบทบาทและหน้าที่ของแต่ละคนภายในกลุ่ม  แล้วนักเรียนเลือกศึกษาเรื่องที่ตนเลือกและนำเสนอต่อกลุ่ม  กลุ่มรวบรวมหัวข้อต่าง ๆ จากนักเรียนทุกคนภายในกลุ่ม  แล้วรายงานผลงานต่อชั้นและมีการประเมินผลงานของกลุ่ม
เทคนิคทั้ง  9  ดังกล่าวข้างต้นนี้  ส่วนมากจะใช้ตลอดคาบการเรียนหรือตลอด
กิจกรรมการเรียนในแต่ละคาบ  เรียกการเรียนแบบร่วมมือประเภทนี้ว่า  การเรียนแบบร่วมมืออย่างเป็นทางการ  (Formal  cooperative  Learning)  แต่ยังมีเทคนิคอื่น ๆ อีกจำนวนมากที่ไม่จำเป็นต้องใช้ตลอดกิจกรรมการเรียนการสอนในแต่ละคาบ  อาจใช้ในขั้นนำ สอดแทรกในขั้นสอนตอนใด  ๆ  ก็ได้  หรือใช้ในขั้นสรุป  หรือขั้นทบทวน  หรือขั้นวัดผล  เรียกการเรียนแบบร่วมมือประเภทนี้ว่า  การเรียนแบบร่วมมืออย่างไม่เป็นทางการ  (Informal  cooperative  learning)  ดังนี้
2.  การเรียนแบบร่วมมืออย่างไม่เป็นทางการ  มีดังนี้
2.1 การพูดเป็นคู่  (Rally  Robin)  เป็นเทคนิคเปิดโอกาสให้นักเรียนพูด  ตอบ
แสดงความคิดเห็นเป็นคู่  ๆ โดยเปิดโอกาสให้สมาชิกทุกคนใช้เวลาเท่า ๆ กัน  หรือใกล้เคียงกัน  ตัวอย่างเช่น  กลุ่มมีสมาชิก  4  คน  แบ่งเป็น 2  คู่  คู่หนึ่งประกอบด้วยสมาชิกคนที่  1 และคนที่  2  แต่ละคู่จะพูดพร้อมๆ  กันไป  โดย 1 พูด  2  ฟัง  ในเวลาที่กำหนด  จากนั้น  2  พูด  1  ฟัง  ในเวลาที่กำหนดเช่นกัน
2.2 การเขียนเป็นคู่  (Rally Table)  เป็นเทคนิคคล้ายกับการพูดเป็นคู่  ทุก
ประการต่างกันเพียงการเขียนเป็นคู่  เป็นการร่วมมือเป็นคู่ ๆ  โดยผลัดกันเขียน  หรือวาด  (ใช้อุปกรณ์  กระดาษ  2 แผ่นและปากกา  2  ด้ามต่อกลุ่ม)
2.3 การพูดรอบวง  (Round  Robin)  เป็นเทคนิคที่สมาชิกของกลุ่มผลัดกันพูด
 ตอบ  เล่า  อธิบาย  โดยไม่ใช้การเขียน  การวาด  และเป็นการพูดที่ผลัดกันทีละคนตามเวลาที่กำหนด  จนครบ  4  คน
2.4 การเขียนรอบวง  (Roundtable)  เป็นเทคนิคที่เหมือนกับการพูดรอบวง
แตกต่างกันที่เน้นการเขียน  การวาด  (ใช้อุปกรณ์  กระดาษ  1  แผ่น  และปากกา 1  ด้ามต่อกลุ่ม)  วิธีการคือ  ผลัดกันเขียนลงในกระดาษที่เตรียมไว้ทีละคนตามเวลาที่กำหนด
เทคนิคนี้อาจดัดแปลงให้สมาชิกทุกคนเขียนคำตอบ  หรือบันทึกผลการคิดพร้อม ๆ กันทั้ง  4  คน  ต่างคนต่างเขียนในเวลาที่กำหนด  (ใช้อุปกรณ์ : กระดาษ 4 แผ่น  และปากกา 4 ด้าม)  เรียกเทคนิคนี้ว่าการเขียนพร้อมกันรอบวง (Simultaneous  Roundtable)
2.5 การแก้ปัญหาด้วยการต่อภาพ  (Jigsaw  Problem  Solving)  เป็นเทคนิคที่
สมาชิกแต่ละคนคิดคำตอบของตนเองไว้จากนั้นกลุ่มนำคำตอบของทุก ๆ  คนมาร่วมกันอภิปราย  เพื่อหาคำตอบที่ดีที่สุด  ดังภาพ
2.6 คิดเดี่ยว  คิดคู่  ร่วมกันคิด  (Think  Pair  Share) เป็นเทคนิคโดยเริ่มจาก
ปัญหาหรือโจทย์คำถาม  โดยสมาชิกแต่ละคนคิดหาคำตอบด้วยตนเองก่อน  แล้วนำคำตอบไปอภิปรายกับเพื่อนเป็นคู่  จากนั้นจึงนำคำตอบของแต่ละคู่มาอภิปรายพร้อมกัน  4  คน  เมื่อมั่นใจว่าคำตอบของตนถูกต้องหรือดีที่สุด  จึงนำคำตอบเล่าให้เพื่อนฟัง
2.7 อภิปรายเป็นคู่  (Pair  Discussion)  เป็นเทคนิคที่เมื่อครูถามคำถาม  หรือ
กำหนดโจทย์แล้ว  ให้สมาชิกที่นั่งใกล้กันร่วมกันคิด  และอภิปรายเป็นคู่
2.8 อภิปรายเป็นทีม  (Team  Discussion)  เป็นเทคนิคที่เมื่อครูตั้งคำถามแล้ว
ให้สมาชิกของกลุ่มทุก  ๆ  คน  ร่วมกันคิด  พูด  อภิปรายพร้อมกัน
2.9 ทำเป็นกลุ่ม  ทำเป็นคู่  และทำคนเดียว  (Team - pair - Solo)  เป็น
เทคนิคที่เมื่อครูกำหนดปัญหา  หรือโจทย์  หรืองานให้ทำ  แล้วสมาชิกจะทำงานร่วมกันทั้งกลุ่มจนงานแล้วเสร็จ  จากนั้นจะแบ่งสมาชิกเป็นคู่ให้ทำงานร่วมกันเป็นคู่จนงานสำเร็จแล้วถึงขั้นสุดท้าย  ให้สมาชิกแต่ละคนทำงานคนเดียวจนสำเร็จ
การเรียนแบบร่วมมือกำลังได้รับความสนใจในหมู่นักการศึกษา  ครู  อาจารย์  ในปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง  การเรียนแบบร่วมมือมีทั้งเทคนิคที่นำมาใช้ได้โดยตรงโดยไม่ต้องปรับและเทคนิคที่ต้องปรับเพื่อให้เหมาะสมกับผู้เรียนและเนื้อหาวิชา  อย่างไรก็ตาม  การเรียนแบบร่วมมือก็นับเป็นวิธีการสอนอย่างหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมให้นักเรียนเรียนรู้ด้วยตนเองได้เป็นอย่างดี

ประโยชน์ของการเรียนแบบร่วมมือ  
1. สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสมาชิก  เพราะทุก ๆ คนร่วมมือในการทำงานกลุ่ม
ทุก ๆ คนมีส่วนร่วมเท่าเทียมกัน
2. สมาชิกทุกคนมีโอกาสคิด  พูดแสดงออก  แสดงความคิดเห็น  ลงมือกระทำ
อย่างเท่าเทียมกัน
3. เสริมให้มีความช่วยเหลือกัน  เช่น  เด็กเก่งช่วยเด็กที่เรียนไม่เก่ง  ทำให้เด็กเก่ง
ภาคภูมิใจ  รู้จักสละเวลา  ส่วนเด็กที่ไม่เก่งเกิดความซาบซึ้งในน้ำใจของเพื่อนสมาชิกด้วยกัน
4. ร่วมกันคิดทุกคน  ทำให้เกิดการระดมความคิด   นำข้อมูลที่ได้มาพิจารณา
ร่วมกัน  เพื่อประเมินคำตอบที่เหมาะสมที่สุด  เป็นการส่งเสริมให้ช่วยกันคิดหาข้อมูลให้มาก  และวิเคราะห์และตัดสินใจเลือก
5. ส่งเสริมทักษะทางสังคม  เช่น  การอยู่ร่วมกันด้วยมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
เข้าใจกันและกัน  อีกทั้งเสริมทักษะการสื่อสาร  ทักษะการทำงานเป็นกลุ่ม  สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งเสริมผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้สูงขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น